หน่วยการเรียนรู้ที่3

ประวัติและพัฒนาการฝึกหัดครู

    ความเป็นมาของครู
 พระราชวรมุณี (พระยุทธ์  ปยุตฺโต) ได้เขียนไว้ในหนังสือ ปรัชญาการศึกษาไทยหน้า 130-131.   เกี่ยวกับหน้าที่ของครู ความตอนหนึ่งว่า
“ครูเป็นสื่อชักนำ หรือเหนี่ยวนำการศึกษาให้แก่ศิษย์ ศิษย์เป็นผู้ใช้ประโยชน์ จากสื่อนั้นในการ   ปลูกฝังการศึกษาให้เกิดขึ้นแก่ตน…”
“…เราเรียกหน้าที่ของครูว่า เป็นสัปปทายก หรือ ศิลปทายก สัปปทายก คือ อะไร สัปปทายก คือผู้ให้ศิลปวิทยา หรือผู้ถ่ายทอดศิลปะวิทยา หมายความว่าครูอาจารย์นั้น ทำหน้าที่ถ่ายทอดศิลปวิทยาการแก่ศิษย์ เป็นผู้สืบต่อมรดกทางวัฒนธรรม และทางปัญญาของมนุษย์ชาติ มนุษย์เราค้นคว้าแสวงหาความรู้วิชาการต่างๆ ขึ้นมาแล้ว ก็มีบุคคลกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่ช่วยกันรักษาสืบต่อไว้และแสวงหาค้นคว้าวิชาการนั้นๆ ให้กว้างขวาง ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ครูเป็นผู้นำหน้าที่อันนี้…”
หน้าที่ประการที่สอง เรียกว่าเป็นหน้าที่ของกัลยาณมิตร หน้าที่กัลยาณมิตร ก็คือการเป็นผู้ชี้แนะ  เป็นผู้กระตุ้นเตือนในศิษย์รู้จักคิด รู้จักใช้ปัญญา ฝึกการใช้ปัญญาและรู้จักรับผิดชอบสร้างสมคุณธรรมให้เกิดมีขึ้นในตน ให้เป็นคนไม่มีทุกข์ ไม่มีปัญหาอันนี้เป็นสิ่งสำคัญ เป็นหน้าที่หลักของครู หรือหน้าที่ที่ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นครู
จะเห็นได้ว่าสาระที่พระเดชพระคุณพระราชวรมุนีกล่าวถึง หน้าที่ของครูไว้สองประการสำคัญ ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ สืบต่อมรดกทางวัฒนธรรมและ สร้างสรรค์ปัญญาให้กับศิษย์และการเป็นกัลยาณมิตร เป็นหลักสำคัญของผู้ที่ทำหน้าที่เป็นครู จึงถือว่าครูเป็นผู้ให้ทางปัญญาแก่ศิษย์โดยแท้ ดังนั้น สู่ความเป็นครู หรือเส้นทางในความเป็นครูจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศิษย์ โดยพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ศิษย์เป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข
ครูทุกคนจึงตระหนักอยู่เสมอที่จะให้ศิษย์มีความก้าวหน้ามีชีวิตที่ดี โดยหวังว่าจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคมในวันข้างหน้า ครูจึงตั้งใจที่จะสั่งสอนศิษย์อย่างเต็มที่
เมื่อเป้าหมายของครูเป็นเช่นนั้น ครูจึงต้องหันมาดูตัวครูเป็นหลักก่อน ดังคำกล่าวที่ว่า “การเป็น    ตัวอย่างที่ดี คือการสอนที่ดี” เพราะศิษย์จะตามแบบอย่างครู ครูจึงต้องพัฒนาตนเองเริ่มตั้งแต่ใจรักเด็ก    รักศิษย์ รักที่จะสั่งสอนหรือถ่ายทอดความรู้ให้กับคนอื่น มีความตั้งใจ เรื่องความรู้สึกหรือเจตคติต่อความ เป็นครูจึงเป็นเรื่องสำคัญ คือ เริ่มต้นที่จิตใจรักที่จะเป็นครู นั่นเอง เมื่อใจรักที่จะเป็นครู เพื่อประกอบอาชีพเป็นครู จึงต้องแสวงหาว่าการเป็นครูที่ดีเป็นอย่างไร เพื่อจะได้เป็นกรอบหรือแนวทางในการปฏิบัติตน
มีบทดอกสร้อยบทหนึ่ง กล่าวถึงครูดีไว้ช่วยให้จดจำได้ง่ายว่า ดังนี้
ครูเอ๋ยครูดี                                 จำต้องมีหลักสี่สถาน
หนึ่ง ความรู้เก่งหล้าวิชาการ                     สอง เชี่ยวชาญการปกครอบต้องใจคน
สาม ชำนาญการอบรมสั่งสอนศิษย์                       รู้จักคิดหาอุบายให้ได้ผล
สี่ ประพฤติชอบและอดทน                                   ใครได้ผลชื่นชมนิยมเอย

คนเป็นครูต้องมีความรู้

เนื่องจากครูจะต้องทำหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้และความเป็นกัลยาณมิตร ครูจึงต้องมีความรู้อย่างน้อย 3 ด้าน คือ ความรู้ทั่วไป ในสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ความรู้ในสาขาที่สอนและความรู้ในการสอนหรือเทคนิคการสอน รวมถึงการวางแผนการสอน การเตรียมการสอน    การดำเนินการสอน การประเมินผลการสอน การใช้สื่อการสอน เป็นต้น

คนเป็นครูต้องปกครองชั้นได้

หมายถึง ครูจะต้องทำงานร่วมกับนักเรียน เพื่อให้เป็นไปตามแผนการสอนหรือแผนการเรียนรู้ ด้วยตนเอง เรียนรู้ร่วมกับเพื่อน และเรียนรู้ร่วมกับครู  การปกครองชั้นในการเรียนการสอนแบบใหม่ จะเน้นบทบาทของนักเรียนที่มีความกระตือรือร้นตามความต้องการหรือความสนใจของนักเรียนมากกว่าการบังคับขู่เข็ญ หรือการลงโทษที่เข้มงวด ครูจึงต้องมี   จิตวิทยาในการปกครองชั้นว่า จะทำอย่างไรให้นักเรียนเรียนได้อย่างมีความสุข เข้าเรียนสม่ำเสมอ และให้ความร่วมมือกับครูในการเรียนการสอนและรักการเรียน

คนเป็นครูจะต้องสอนดี

การสอนให้ได้ดีต้องมีหลักการสอน เช่น
1.  ต้องมีการเตรียมการสอนทุกครั้ง
2.  สอนโดยคำนึงถึงหลักจิตวิทยา เช่น จิตวิทยาพัฒนาการ จิตวิทยาการศึกษา เป็นต้น
3.  สอนจากง่ายไปหายาก
4.  สอนจากรูปธรรมไปหานามธรรม
5.  สอนอย่างมีขั้นตอน เช่นการนำเข้าสู่การเรียน การสอนประเมินผล และสรุป เป็นต้น
6.  สอนโดยใช้สื่อเสริมเพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจ
7.  สอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
8.  สอนโดยให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมเป็นรายบุคคล และกลุ่ม
9.  ใช้วิธีการสอนที่หลากหลายที่มุ่งให้ผู้เรียนการเรียนรู้เป็นสำคัญ
10. สอนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ
11. สอนให้นักเรียนได้รู้จักคิดสร้างสรรค์และคิดวิเคราะห์
12. สอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน
13. สอนแบบสหสัมพันธ์หรือองค์รวม ฯลฯ
นอกจากการสอนแล้วครูยังต้องทำหน้าที่อบรมจริยธรรมและคุณธรรมให้กับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้ตระหนักถึงการทำความดีอยู่ในศีลธรรมอันดี

คนเป็นครูต้องมีความประพฤติดี

ความประพฤติของครูเริ่มตั้งแต่การแต่งกายเหมาะสมเป็นตัวอย่างในการทำความดีให้กับนักเรียนได้ มีจรรยามารยาท การพูดด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ เป็นผู้นำทางความคิดและการกระทำที่ซื่อสัตย์ สุจริต ยุติธรรม ตรงต่อเวลา เป็นต้น

คนเป็นครูต้องมีความมานะอดทน

ครูต้องเกี่ยวข้องกับนักเรียนที่มีความแตกต่างกันทั้งด้านสติปัญญา อารมณ์ สังคม ครู จึงต้องใช้ความใจเย็น สุขุม รอบคอบในการสอนในการทำงานร่วมกับนักเรียน
นอกจากนั้น ครูยังต้องเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับเพื่อน ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง ปัญหาต่างๆ ที่   เกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ จึงเป็นเรื่องปกติ ครูจึงต้องมีความมั่นใจในตนเอง และมีมุ่งมั่นในการทำงานไม่ย่อท้อ
ครูจะต้องเป็นผู้ให้หรือผู้เสียสละ ดังที่พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ท่านเรียกว่า เป็นการเปิดประตูวิญญาณถือว่าเป็นหน้าที่สูงสุดของมนุษย์ใครทำได้ คนนั้นถือว่าเป็นครู ครูจึงต้องพระเมตตาและปัญญา ปัญญาและเมตตา คือความรู้ที่เพียงพอสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของครูแล้วก็เมตตาที่เพียงพอสำหรับอดกลั้น อดทน ในเมื่อมันมีสิ่งชนิดนั้นเกิดขึ้น แล้วก็อยู่ด้วยความพอใจว่าเรามีโชคดีที่ได้มาทำหน้าที่ครู หรือแม้มีอาชีพครู ซึ่งมีกุศล มีการบำเพ็ญการกุศล หรือได้บุญอยู่ในอาชีพนั้น
“…ให้ถือว่าครูมีหน้าที่พัฒนามนุษย์ แล้วพัฒนามนุษย์นั้นมุ่งหมายให้ถึงที่สุดอย่าหยุดเสียครึ่งๆ กลางๆ ให้เต็มไปด้วยความเป็นมนุษย์แล้วเราก็มีสิทธิที่จะพอใจในความเป็นปูชนียบุคคลของตนเอง…”
แหล่งที่มา:
https://educ105.wordpress.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B9/


การฝึกหัดครู

ปัญหาทางสังคมส่วนหนึ่งเกิดจากประชาชนไม่มีการศึกษาและไม่มีงานทำ ความเชื่อนี้สะท้อนจากการสัมภาษณ์ความเห็นของประชาชนจากสำนักข่าว BBC เนื่องจากเกิดจลาจลในกรุงสต๊อกโฮมประเทศสวีเดนซี่งเป็นเพื่อนบ้านของประเทศฟินแลนด์เริ่มตั้งแต่ต้นสัปดาห์ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2556 นับเป็นวันที่ 6 แล้วยังไม่ยุติ ซึ่งช่วงระยะเวลาดังกล่าว ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประชุม ผงผ่าน อธิการบดีฯ ได้นำคณะกรรมการสภาฯ ไปศึกษาดูงานทางด้านการศึกษาและการฝึกหัดครูที่ประเทศฟินแลนด์และและประเทศสวีเดน

ศาสตราจารย์กิตติคุณ (Professori emeritus) Matti Meri แห่ง University of Helsinki ได้บรรยายสรุปการจัดการศึกษาและการฝึกหัดครูให้กับคณะศึกษาดูงาน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจสำหรับนำมาใช้ปรับปรุงการจัดการฝึกหัดครูของประเทศไทย ถึงแม้ว่าบริบทของสังคมไทยกับประเทศฟินแลนด์จะแตกต่างกันแต่อาจนำประเด็นบางอย่างมาปรับใช้ได้ เช่น การกำหนดสมรรถนะหลักสำหรับครู (Teacher’s Core Competences) การใช้วิจัยเป็นฐาน (Research-based Approach) กระบวนการคิดทางการเรียนการสอน (Pedagogical Thinking in Teaching-Studying-Learning Process) และ การฝึกสอน (Teaching Practice) เป็นต้น

การกำหนดสมรรถนะหลักสำหรับครู (Teacher’s Core Competences)

เนื่องจากการจัดการศึกษาของประเทศฟินแลนด์มีชื่อเสียงเป็นที่ได้รับการยอมรับว่ามี คุณภาพ สามารถสืบค้นได้จากแหล่งสืบค้นรวมทั้งมีผู้นำเสนอไว้เป็นจำนวนมาก แต่การนำเสนอในบทความนี้มุ่งประเด็นการฝึกหัดครูของ Universityof Helsinki ที่ดำเนินการโดยภาควิชาการฝึกหัดครู (Departmentof Teacher Education) ซี่งอยู่ในคณะพฤติกรรมศาสตร์ (Faculty of Behavioral Sciences) ซึ่งกำหนดสมรรถนะหลักสำหรับครูไว้ดังนี้

1. ความมั่นใจในตนเอง (Self-Confidence) เป็นสมรรถนะเชิงนามธรรมที่ต้องมีการวัดจากพฤติกรรมการแสดงออกและยังให้ความสำคัญกับบุคลิกภาพของผู้ที่มีวิชาชีพครู ถ้าครูมีความมั่นใจในภูมิความรู้และภูมิปัญญาของตนจะทำให้ลูกศิษย์ มั่นใจในการเรียน และเชื่อมั่นในสิ่งที่เรียน

2. ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เป็นสมรรถนะเชิงนามธรรมอีกเช่นกัน ซี่งกระบวนการวัดและประเมินความคิดสร้างสรรค์จำเป็นต้องใช้ฐานความรู้ทาง พฤติกรรมศาสตร์อย่างมาก

3. ทักษะทางปัญญา (Meta-Cognitive Skills) เป็นการส่งเสริมกระบวนการทางปัญญา สมรรถนะด้านนี้เกี่ยวข้องกับความสามารถทางสมองในการคิดเชิงอภิธานหรือองค์ รวม (Holistic) เพื่อเห็นความสัมพันธ์ของปัจจัยต่าง ๆ

4. ทักษะการปฏิสัมพันธ์ (Skills to Direct Interaction) อาชีพครูมีความจำเป็นต้องมีการเผชิญหน้า มีการติดต่อทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งต่อหน้าและลับหลัง การมีสมรรถนะด้านการปฏิสัมพันธ์อย่างตรงตามประเด็นเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา หรือสร้างความเข้าใจให้ลูกศิษย์มีความสำคัญมาก

5. ความสามารถในการออกแบบสิ่งแวดล้อมทางการสอน การศึกษาค้นคว้า และการเรียนรู้ (Ability to Create Teaching-Studying-Learning Environments) สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมจะช่วยให้การสอน การศึกษาค้นคว้า และการเรียนรู้ มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยให้ความสำคัญกับกระบวนการศึกษาค้นคว้าเท่าเทียมกับ การเรียนและการสอน

ตลอดการบรรยายของ Professori emeritus Matti Meri จะใช้คำว่า Teacher ซึ่งหมายถึง “คุณครู” ไม่ใช้คำว่า Instructor และจะใช้คำว่า Pupils ซึ่งหมายถึง “ลูกศิษย์” ซึ่งไม่ใช้คำว่า Clients หรือ Customers กับผู้เรียนหรือนักเรียนที่กล่าวถึงเลย




การใช้วิจัยเป็นฐาน (Research-based Approach)

การฝึกหัดครูภายใต้หลักการนี้ใช้ภาษาอังกฤษว่า “From Theory to Practice – From Practice to Theory” หมายถึง การนำทฤษฎีใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติ ในขณะเดียวกันเมื่อลงมือปฏิบัติแล้วก็จะได้ข้อมูลและนำข้อมูลไปวิเคราะห์เป็นผลการวิจัยสู่การสร้างทฤษฎีต่อไปโดยวางแนวทางไว้ดังนี้

1. ทุกหน่วยการเรียนจะสอดคล้องต้องกันและเกี่ยวข้องกับการวิจัย โดยความรู้และความเข้าใจต่างๆ เกิดขึ้นจากการได้ลงมือปฏิบัตินั้นต้องสามารถอธิบายได้หรือมีทฤษฎีรองรับการปฏิบัติ

2. มีรายวิชาที่มีวิธีการวิจัยเกี่ยวข้องอยู่โดยตลอดและต่อเนื่องทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ

3. สร้างสมรรถนะโดยรวมของการวิจัยให้เกิดขึ้น นักศึกษาครูทุกคนต้องเข้าใจองค์รวมของการวิจัยและกระบวนการวิจัย แต่ในแต่ละบุคคลจะมีความสามารถเฉพาะในการวิจัยเฉพาะเรื่องหรือเฉพาะด้าน

4. ฝึกให้นักศึกษาครูเป็นนักวิจัย มีความสามารถในการทำวิจัย และสร้างผลงานวิจัยได้ในขณะเดียวกันต้องสามารถใช้งานวิจัย เข้าใจงานวิจัยของผู้อื่นเพื่อนำมาใช้กับงานของตนให้ได้

5. ต้องเข้าถึงหรือเชื่อมโยงกับการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มีการวิจัยเป็นสาระสำคัญของการศึกษา หมายถึงควรมีหรือต้องมีการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกทางด้านการฝึกหัดครู

จากมาตรการดังกล่าวจะทำให้การฝึกหัดครูเกี่ยวข้องกับการวิจัยทั้งระบบทำให้การฝึกหัดครูของมหาวิทยาลัยเป็นการจัดการศึกษาที่ใช้วิจัยเป็นฐาน




กระบวนการคิดทางการเรียนการสอน (Pedagogical Thinking in Teaching-Studying-Learning Process)

กระบวนการคิดเพื่อให้เกิดการค้นหาวิธีการเรียนการสอนที่มีคุณภาพนั้นได้ดำเนินการเป็น 3 ระดับขั้นโดยให้ความสำคัญทั้งส่วนของการสอน (Teaching) การศึกษาค้นคว้า (Studying) และการเรียนรู้ (Learning) แต่ได้แยกระดับของการคิดสำหรับนักศึกษาครูไว้ดังนี้

1. ระดับขั้นของการคิดระดับปฏิบัติ (Action Level) ในกระบวนการของการจัดการเรียนการสอนหรือการจัดการศึกษาเพื่อผลิตครูนั้นในระยะก่อนการปฏิบัติ ระหว่างการปฏิบัติ และหลังการปฏิบัติถือเป็นขั้นเริ่มต้นให้ใช้ความคิดในการลงมือกระทำทุกระยะ ทั้งก่อนลงมือกระทำ ระหว่างลงมือกระทำ และหลังการกระทำเป็นการคิดเพื่อหาเหตุผลอธิบายการกระทำต่างๆ (ถ้าเปรียบสมรรถนะการคิดระดับนี้จะเป็นการทำโครงงานในระดับปริญญาตรีของประเทศไทย)

2. ระดับขั้นของการคิดเชิงรูปธรรม ในขั้นนี้ต้องผ่านระดับขั้นของการปฏิบัติมาก่อน เป็นการคิดเพื่อสร้างองค์ความรู้ สาระ หรือ วัตถุต่างๆ เป็นการคิดหรือสร้างทฤษฎีที่สามารถเห็นผลได้อย่างเป็นรูปธรรม (Object Theories) เป็นการคิดที่เกิดผลในระดับจุลภาค (Micro Level) กระบวนการขั้นนี้จะได้คำตอบที่เป็นสาระที่เกิดเห็นผลเชิงประจักษ์ สามารถเห็นผล ยืนยันผล ตามเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดไว้ได้ (ถ้าเปรียบสมรรถนะการคิดระดับนี้ส่วนมากจะเป็นการวิจัยระดับปริญญาโทของประเทศไทย)

3. ระดับขั้นของการคิดเชิงอภิธาน เป็นขั้นการคิดที่เกิดจากการศึกษา วิเคราะห์ทฤษฎีต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะส่วนที่เป็น Object Theories เพื่อสร้างเป็นทฤษฎีใหม่ขึ้นอีก (Metatheory) เป็นระดับขั้นการคิดเพื่อหารูปแบบหรือแบบแผนของการเรียนการสอนในระดับมหภาค (Macro Level) หรือ เป็นองค์รวม (Holistic) ของสาระความรู้ทั้งปวงที่มีอยู่ตามทฤษฎีต่างๆ ในหลายๆ สาขาวิชาเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ หลักการ หรือปรัชญาของการเรียนการสอนแบบใหม่ที่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดประเสริฐสุดบนฐานความรู้หรือทฤษฎีเดิมเพื่อสามารถนำไปพัฒนา หรือประยุกต์ใช้สำหรับสถานการณ์ต่างๆ ในการเรียนการสอนได้ (ถ้าเปรียบสมรรถนะการคิดระดับนี้จะเป็นการวิจัยระดับปริญญาเอกของประเทศไทย)



การฝึกสอน (Teaching Practice)

การฝึกหัดครูให้ความสำคัญกับการฝึกสอนหรือการฝึกประสบการณ์อาชีพครู สำหรับผู้ที่จะเป็นครูได้ต้องผ่านการฝึกสอนก่อนเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร วิชาชีพครูทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท มีการฝึกสอนประมาณ 20 หน่วยกิต ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแผนการเรียนและระดับชั้นตามระบบ ECTS (European Credit Transfer System) ซึ่งใช้ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปสำหรับใช้เทียบโอนรายวิชาซึ่ง 1 หน่วยกิตของ ECTS มีชั่วโมงปฏิบัติงาน 27 ชั่วโมง (1 ECST = 27 hours of work) ซึ่งถ้าคิดเป็นชั่วโมงฝึกสอนจะต้องใช้เวลา 540 ชั่วโมง ถ้าฝึกสอนวันละ 8 ชั่วโมงจะใช้เวลา 60 วัน ถ้าฝึกสอนวันละ 5 ชั่วโมงก็จะใช้เวลา 108 วัน โรงเรียนในประเทศฟินแลนด์เรียนวันละประมาณ 5 ชั่วโมง

การฝึกสอนไม่มีเกรดหรือคะแนนโดยต้องฝึกสอน จนกว่าจะได้รับการประเมินว่า “ผ่าน” มีความสามารถเป็นครูได้ ความต้องการให้เกิดสมรรถนะในวิชาชีพครูใช้กระบวนการให้นักศึกษาวิชาชีพครู ได้เข้าไปสัมผัสกับบรรยากาศของอาชีพครูในโรงเรียนโดยตรง การฝึกหัดครูให้ความสำคัญกับครูระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา (ระดับชั้นหรือเกรด 1 ถึง 9) โดยแยกเป็นกลุ่มๆ ได้แก่ กลุ่มครูประจำชั้นเรียน (Class Teacher Education) กลุ่มครูสอนรายวิชา (Subject Teacher Education) กลุ่มครูการศึกษาพิเศษ (Special Education) และกลุ่มครูระดับชั้นก่อนวัยเรียนและอนุบาล (Kindergarten Teacher and Early Childhood Education)

ในระบบหน่วยกิตของสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยคล้ายกันคือ 1 หน่วยกิต 1(1-0-2) ในระบบหลักสูตรแบบทวิภาค (Semester) จะหมายถึงการใช้เวลาเรียนทฤษฎี 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็นจำนวน 15 สัปดาห์ และศึกษาค้นคว้าอีก 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์รวมเป็นเวลาที่ใช้สำหรับ 1 หน่วยกิตเป็นจำนวน 45 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นวิชาปฏิบัติ 1 หน่วยกิต 1(0-2-1) จะใช้เวลาปฏิบัติ 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และศึกษาค้นคว้าอีก 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รวม 45 ชั่วโมงเช่นกัน

ดังนั้น 1 หน่วยกิตของสหรัฐอเมริกาหรือของประเทศไทยในระบบหลักสูตรแบบทวิภาคจะใช้เวลาเรียนมากกว่า 1 หน่วยกิตของระบบ ECST หลักสูตรปริญญาตรีวิชาชีพครูของ University of Helsinki มีจำนวน 180 หน่วยกิต แบบ ECST และหลักสูตรปริญญาโทจำนวน 300 หน่วยกิต แบบ ECST หรือ เรียนเพิ่มอีก 120 หน่วยกิต ระยะเวลาที่ใช้เรียนสำหรับปริญญาตรี 4 ปี และปริญญาโท 4-5 ปีหลังจากจบมัธยมศึกษาตอนปลาย ตามภาพแผนการจัดการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ข้างล่างนี้



บทสรุปสำหรับประเทศไทย

การฝึกหัดครูของประเทศไทยมีระบบการผลิตครูจากการมีโรงเรียนฝึกหัดครูมายาวนานเช่นกัน และสร้างความเชื่อมั่นให้สังคมมั่นใจว่าสามารถผลิตครูได้อย่างมีคุณภาพ ดูเพิ่มเติมจาก (http://www.thairath.co.th/content/edu/147028) ซึ่งไม่แตกต่างจากประเทศฟินแลนด์ซึ่งได้รับเอกราชช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 6 ล้านคน และเริ่มก่อตั้งภาควิชาการฝึกหัดครู (Department of Teacher Education) ของ University of Helsinki เมื่อประมาณ 40 ปี (ค.ศ.1974) ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยแห่งนี้ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในฟินแลนด์ประกอบด้วย 11 คณะวิชา 17 สถาบัน มีนักศึกษาประมาณ 35,000 คน มีอาจารย์และนักวิจัย 3,900 คน มีผู้จบการศึกษา 4,500 คนต่อปี สำหรับภาควิชาการฝึกหัดครู (Department of Teacher Education) มีนักศึกษาประมาณ 2,630 คน มีอาจารย์และนักวิจัย 140 คน และ มีเจ้าหน้าที่ 40 คน (ข้อมูลปี พ.ศ. 2556)

สำหรับประเทศไทย ได้รับอิทธิพลจากการศึกษาของสหรัฐอเมริกาช่วงหลังสงครามเวียดนามซึ่งก่อน หน้านั้นได้รับอิทธิพลจากอังกฤษและยุโรป เมื่อระบบการศึกษาของประเทศมีบริบทที่มีการผสมทั้งแบบยุโรปและแบบ สหรัฐอเมริกาประกอบกับประเทศไทยมีประชากรกว่า 60 ล้านคนซึ่งมากกว่าฟินแลนด์ถึง 10 เท่า มีความหลากหลายของปัญหา และมีการกระจายของประชากรตามพื้นที่ชนบทและหนาแน่นในเมือง มีระดับเศรษฐกิจและค่าครองชีพ รายได้ของประชาชาติ ระบบการเมืองการปกครอง เชื้อชาติวัฒนธรรม และอื่นๆ ที่แตกต่างกันมาก

การนำแนวคิดและวิธีการจัดการศึกษาของประเทศฟินแลนด์มาใช้กับประเทศไทยจึงต้องมีความรอบคอบ ระมัดระวังไม่ควรดำเนินการเลียนแบบโดยขาดการศึกษาอย่างรอบคอบ การที่ประเทศฟินแลนด์ได้รับการประเมินว่ามีระบบการจัดการศึกษาที่ดีนั้นยังไม่อาจสรุปว่าเหมาะสมที่ประเทศไทยจะดำเนินรอยตาม

ประเทศไทยควรต้องคิดค้นหาวิธีการที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยเองเช่นเดียวกับประเทศฟินแลนด์ที่ คิดค้นระบบที่เหมาะสมสำหรับประเทศของตน ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่ประเทศไทย นักการศึกษาของไทย สถาบันการศึกษาของไทย ผู้กำหนดนโยบายการศึกษาของไทยควรจะดำเนินรอยตาม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สังคมมั่นใจว่าจะสามารถผลิตครูที่มีคุณภาพ เป็นผู้ที่มีนิติธรรม ศีลธรรม จริยธรรม คุณธรรม และวัฒนธรรม ตามบริบทของสังคมไทย
แหล่งที่มา:http://www.thairath.co.th/content/347192
การพัฒนาครูในศตวรรษใหม่
     จับกระแสการพัฒนาครูในศตวรรษที่ 21: ข้อคิดและทิศทางเพื่อการพัฒนาครูไทย

โครงการจับกระแสความเคลื่อนไหวและนวัตกรรมในการจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กและเยาวชน(INTREND)โดยสถาบันรามจิตติภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ได้จัดเสวนาครั้งที่ 5 เรื่อง “จับกระแสการพัฒนาครูในศตวรรษที่ 21 : ข้อคิดและทิศทางเพื่อการพัฒนาครูไทย"  

          กระแสการพัฒนาครูในศตวรรษที่ 21 ได้กลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญของการปฏิรูปการศึกษาทั่วโลก
ใน
รายงานเรื่อง21st
Century Skills ได้พูดถึงแนวโน้มของคุณลักษณะของกำลังคนรุ่นใหม่ในอนาคตที่ย้ำทักษะร่วมสำคัญ
คือ 
3Rs 7C 2L” ที่เป็นทักษะจำเป็นยิ่งทั้งในทักษะพื้นฐาน“อ่าน เขียน คิดคำนวณ” (3R)และทักษะเท่าทัน“มีวิจารณญาณ สู่การสร้างสรรค์ ทำงานร่วมมือ สื่อสารยุคใหม่
เข้าใจพหุวัฒนธรรม ย้ำความเชื่อมั่น ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง” (
7C) รวมถึง “ทักษะการเรียนรู้และความเป็นผู้นำ” (2L) และยังชี้ทิศทางของการศึกษาที่จะเปลี่ยนไปไม่ว่าจะอิทธิพลของเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะมาปฏิวัติการเรียนรู้ รูปแบบชั้นเรียนที่จะมีลักษณะเป็นห้องทำงานปฏิบัติการ (Studio) รวมถึงกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นเรียนเป็นทีมและลงมือทำ (Team
Learning & Action Learning

          จากการประมวลวรรณกรรมแนวทางและนวัตกรรมการพัฒนาครูที่ดูจะถูกเน้นหนักมากในปัจจุบันน่าจะมีสาระสำคัญครอบคลุมแนวโน้มเชิงวิธีการ5
ประการคือ

1) การสร้างระบบครูผู้เชี่ยวชาญเป็น Coach ประกบตัวฝึกปฏิบัติให้ครู เป็นการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างครูผู้มีประสบการณ์กับเพื่อนครูในการแก้ปัญหาการเรียนรู้ของเด็กเป็นรายกลุ่มหรือรายบุคคล
การมีระบบพี่เลี้ยงและการให้คำปรึกษาหารือ 
(Coaching &
Mentoring) จึงกลายเป็นกลไกและวิธีการสำคัญของการพัฒนาครูในปัจจุบัน

2) การผสมผสานกระบวนการวัดผลเข้ากับกระบวนการสอนอย่างแนบแน่น
ปรับให้ยืดหยุ่นหลากหลายใช้ได้ในหลายสถานการณ์ หลายเป้าหมายการวัด
โดยเฉพาะการวัดทักษะหรือคุณลักษณะใหม่ๆ ตามกรอบคิดร่วมสมัย
 

3) การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาครู
เพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาครูทางไกลผ่านรูปแบบ 
Web-Based Training ต่างๆ
และเพื่อ “จัดการความรู้” ระหว่างครูด้วยกัน

4)การเปลี่ยนไปสู่โฉมหน้าใหม่ “โรงเรียนเรียนรู้
ครูนักวิจัย”
 จากกรณีศึกษาประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศที่ต่างพยายามปรับรูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียนไปสู่การเป็น
“องค์กรการเรียนรู้” ที่เน้นให้ครู
“เรียนรู้และพัฒนาตนเองจากประสบการณ์สะสมซึ่งกันและกัน” มากยิ่งขึ้น
 

5)ยุทธศาสตร์“การสร้างแรงบันดาลใจ จุดไฟพลังครู” (Motivation
& Inspiration) เน้นการค้นหาและหนุนเสริม
“ครูผู้จุดไฟการเรียนรู้”
 
ครูในแบบดังกล่าวจะถูกเน้นการฝึกให้รู้จักตั้งคำถามดีๆ
เชื่อมโยงประเด็นสำคัญและตั้งโจทย์ชวนเด็กคิดได้มาก
แนวทางของการพัฒนาครูมักใช้ตัวอย่างจากครูผู้สร้างแรงบันดาลใจด้วยกันมาแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดประสบการณ์หรือการเน้นให้ฝึกตั้งคำถามดลใจ
 อันจะทำให้ผู้เรียนเกิดการใฝ่เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิตต่อไป 
แหล่งที่มา:http://www.ramajitti.com/info_point.php



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น